ทำเนียบท่าช้าง ปฏิบัติการจู่โจมเพื่อจับกุมตัว นายปรีดี พนมยงค์

03 สิงหาคม 2018, 16:48:32

“ทำเนียบท่าช้าง” นี้เป็นคำที่ใช้เรียกบ้านพักของรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ เป็นบ้านที่รัฐบาลเป็นเจ้าของ เดิมมีชื่อเรียกว่าวังถนนพระอาทิตย์ หากเดินทางมาจากป้อมพระอาทิตย์มาทางสะพานปิ่นเกล้า อาคารหรือบ้านแบบฝรั่งหลังนี้ก็คือตึกสีขาวสองชั้นหลังที่สอง รองจากตึกหลังสุดท้ายที่ติดกับประตูน้ำที่ปากคลอง ซึ่งออกแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณท่าช้างวังหน้า ที่หน้าบ้านเวลานี้มีหมายเลข 19 ติดไว้ ตัวใหญ่มากดังเดิม เป็นบ้านขอเจ้าพระยามหาโยธา (ทอเรีย) ที่ตกทอดมายังพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระนเวรฤทธิ์ และต่อตกมาเป็นของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์


ระหว่าง พ.ศ. 2485-2490 ทางรัฐบาลได้จัดให้อาคารหลังนี้เป็นที่พักของนายปรีดี พนมยงค์ ซึ่งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และใช้เป็นที่ทำการของผู้สำเร็จราชการด้วย ณ สถานที่นี้เองในคืนวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 ได้มีการปฏิบัติการจู่โจมเพื่อจับกุมตัว นายปรีดี พนมยงค์ ดังที่มีบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย


ในหนังสือหลากบทชีวิตของท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ที่เขียนโดย “นรุตม์” ได้เล่าถึงเหตุการณ์ในคืนวันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 วันจริงน่าจะเป็นคืนวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 เหตุการณ์ระทึกใจได้เกิดขึ้นที่ทำเนียบท่าช้าง ดังที่ได้ถ่ายทอดคำบอกเล่าของคู่ชีวิตรัฐบุรุษอาวุโส นายปรีดี พนมยงค์ มีความว่า “เกือบสองยาม แสงไฟสว่างโร่สาดจ้าเข้ามาในห้องนอน ปลุกให้ดิฉันสะดุ้งตื่นขึ้น เป็นไฟจากรถถังที่จอดอยู่แถวหน้าประตูมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์ฯ ด้านถนนพระอาทิตย์ ดิฉันลุกขึ้นเปิดประตูออกมา เห็นห้องนั่งเล่นชั้นบนมีหนังสือพิมพ์วางระเกะระกะอยู่ แต่ไม่พบนายปรีดี เลยเดินลงมาข้างล่าง พบนายปลั่ง มีจุล ซึ่งเป็นคนในบ้านคนหนึ่ง“เอ๊ะ! ปลั่งท่านไปไหนล่ะ” ดิฉันเอ่ยถามขึ้น”


ที่ท่านผู้หญิงถามถึง “ท่าน” ซึ่งหมายถึงนายปรีดี พนมยงค์ นั้นก็เพราะท่านผู้หญิงได้ขึ้นไปนอนก่อนและนายปรีดี พนมยงค์ มีภารกิจต้องพบกันบุคคลสำคัญในรัฐบาลและกองทัพ ดังที่มีคำบอกเล่าก่อนหน้านั้นว่า
“ตกตอนค่ำ ดิฉันรู้สึกไม่สบาย จึงขอตัวขึ้นมานอนพักผ่อนบนบ้านก่อน ไม่ได้อยู่ร่วมรับประทานอาหารเย็นกับนายปรีดี ซึ่งกำลังมีแขก 2 คน คือ หลวงอดุลย์ฯ กับหลวงธำ รงฯ ที่มาปรึกษาเรื่องการลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี”


คำถามของท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ที่ถามนายปลั่ง มีจุลนั้นได้คำตอบว่า “ท่านไปแล้วครับ” ยังไม่ทันจบคำตอบ “มิทันขาดคำ เสียงปืนแผดสนั่นขึ้นกราวใหญ่ที่บริเวณชั้นบนของบ้านด้านริมถนน ลูกปาลวิ่งออกมาจากห้องนอนด้วยความตกใจ พลางฉุดดิฉันหลบขึ้นมานอนหมอบราบกับพื้นในห้องนอนของลูก ๆ ผู้หญิงที่อยู่ด้านริมแม่น้ำ และคอยถามว่าแม่เป็นอย่างไรบ้าง เพราะพวกเราปิดไฟอยู่ในความมืด เนื้อตัวทุกคนไหวระริกด้วยความตื่นเต้นและตกใจกลัว”


เหตุการณ์ระดมยิงนี้เกิดขึ้นที่บ้านพักของ “รัฐบุรุษอาวุโส” นายปรีดี พนมยงค์ ตอนนั้นนายปรีดี พนมยงค์ ไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรี แต่พลเรือตรีหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์เป็นนายกรัฐมนตรี หน่วยทหารที่มาต้องการมาจับนายปรีดี พนมยงค์ เพราะคงเห็นว่าเป็นบุคคลนอกรัฐบาลที่ยังมีคนในรัฐบาลเกรงใจและเป็นผู้ที่มีผู้คนเคารพนับถือด้วยว่าเป็นหัวหน้าเสรีไทยต่อสู้ญี่ปุ่นมาในยามสงคราม


ในแผนการยึดอำนาจของคณะทหารที่ปฏิบัติการยึดอำนาจครั้งนี้มีผู้บันทึกเล่ากันไว้ว่าได้มีแผนไปจับกุมตัวบุคคลสำคัญ 3 คน โดยแบ่งเป็น 3 สาย พวกที่มาที่ทำเนียบท่าช้างนี้เป็นสายที่ 1 ดังที่สุชิน ตันติกุล เขียนว่า
“สายที่ 1 มีพันโทก้าน จำนงภูมิเวท เป็นหัวหน้า พร้อมด้วยพันเอกเผ่า ศรียานนท์, พันโทละม้าย อุทยานานนท์, พันโทเฉลิม พงศ์สวัสดิ์ นำกำลังทหารจากหน่วย ป.ต.อ. และจาก ร.พัน 2 ไปจับนายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส ที่บ้านท่าช้างวังหน้า”


ในขณะที่มีการยิงปืนกันนั้น ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ได้เล่าต่อไปอีกว่าท่านได้ตะโกนสวนออกไปว่า “ที่นี่มีแต่เด็กกับผู้หญิง...อย่ายิง...!” เหตุการณ์ตอนนี้ไม่ค่อยมีใครบันทึก ท่านผู้หญิงเป็นผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์จริงเล่าจึงน่าสนใจมาก ท่านยังเล่าต่อไปอีกว่า “ดิฉันละล่ำละลักตะโกนสวนออกไปท่ามกลางเสียงห่ากระสุนที่ยังกึกก้องคำรามอย่างบ้าคลั่ง สักครู่เสียงปืนจึงสงบลง และดังขึ้นที่ประตูรั้วหน้าบ้านอีกครั้ง พร้อมกับทหารกลุ่มหนึ่งราว 4-5 คน บุกเข้ามา ดิฉันรอเสียงปืนเงียบจนแน่ใจจึงเดินลงมาเผชิญหน้า”


ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ จึงได้เผชิญหน้ากับคณะทหารที่เป็นบุรุษทั้งคณะที่มีอาวุธพร้อม ท่านเล่าต่อเนื่องไปว่า “ที่มานี่เราจะมาเปลี่ยนรัฐบาล” ท่านเล่าว่าทหารคนหนึ่งพูด ซึ่งท่านได้ย้อนถามไปว่า
“ทำไมมาเปลี่ยนที่นี่ ทำไมไม่ไปเปลี่ยนที่สภาเล่า” ไม่มีคำตอบ แต่ทหารทั้งหมดก็เดินเข้ามาค้นบ้าน เมื่อไม่พบอะไรที่ต้องการก็ได้พากันกลับไป นี่เป็นเพียงการปฏิบัติการของทหารสายที่หนึ่งที่ทำเนียบท่าช้าง


ในหนังสือรัฐประหาร พ.ศ. 2490 ของสุชิน ตันติกุล ได้ยกรายงานเหตุการณ์ในหนังสือพิมพ์ พิมพ์ไทย เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 ที่รายงานถึงเหตุการณ์ที่ทำเนียบท่าช้างไว้ดังนี้ “ประมาณ 1 น.เศษ ของวันที่ 9 รถเกราะ 4 คัน ได้บ่ายหน้าไปยังทำเนียบท่าช้าง เชิญตัวรัฐบุรุษอาวุโสปรีดี พนมยงค์ ออกมาพบแต่ตำรวจรักษาการณ์ขัดขวาง จึงได้เกิดยิงกันขึ้นเล็กน้อย กระสุนปืนประจำรถเกราะถูกกำแพงเป็นรู 5-6 นัดแล้วรถเกราะก็ดันประตูหลุดเข้าไปในเขตทำเนียบ ปืนประจำรถเกาะยิงถูกตึกเป็นรูอีก 4-5 แห่ง แต่ไม่มีใครเป็นอันตราย...”


อ่านดูเทียบกับคำบอกเล่าของท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ได้ รายงานในหนังสือพิมพ์พิมพ์ไทยยังมีต่ออีกว่า “คณะทหารสั่งให้ตำรวจยามปลดอาวุธแล้วเข้าพบกับนางพูนสุข พนมยงค์ (เป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อนของคนอื่นที่เขียนชื่อท่านผู้หญิงไม่ตรงตามที่เจ้าของชื่อเขียน) เพราะรัฐบุรุษอาวุโสไม่อยู่ แต่มีผู้ทราบจากปากคำชาวเรือซึ่งจอดอยู่ชายน้ำใกล้ ๆ ทำเนียบว่าขณะเกิดการยิงกันหน้าทำเนียบนั้น นายปรีดีได้ลงเรือหลบไปเสียก่อนแล้ว หลังจากเข้าตรวจค้นดูทุก ๆ ห้อง และพลเอกหลวงอดุลเดชจรัสได้ไปถึงคณะทหารก็กลับไป”


แผนการในการจับกุมตัวนายปรีดี พนมยงค์ ซึ่งไม่ทราบว่าตั้งใจจะจับเป็นหรือจับตายนั้นไม่ประสบความสำเร็จ นายปรีดี พนมยงค์ ได้รู้ตัวล่วงหน้านิดเดียว หลบลงเรือหนีไปได้อย่างหวุดหวิด นอกจากจะจับกุมตัวนายปรีดี พนมยงค์ แล้ว คณะผู้ยึดอำนาจยังส่งกำลังไปจับตัวนายกรัฐมนตรี หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ที่บ้านพักของท่านที่ถนนราชวิถี อยู่เยื้องกับสวนจิตรลดา ทหารชุดนี้เป็นสายที่ 2 ที่ “มีร้อยเอกขุนปรีชารณเศรษฐ เป็นหัวหน้า นำกำลังทหารจากหน่วย ป.ต.อ. และจาก ร.1 พัน 3 ไปจับกุมพลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ที่บ้านถนนราชวิถี”


ผู้ไปจับก็คว้าน้ำเหลว เพราะไปที่บ้านโดยไม่รู้เลยว่าวันนั้นมีงานการกุศลของสายปัญญาสมาคมที่สถานลีลาศสวนอัมพร และท่านนายกรัฐมนตรี “ลิ้นทอง” ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ได้ไปร่วมงาน เขาเล่ากันว่าขณะที่นายกรัฐมนตรีกำลังเต้นรำอยู่กลางฟลอร์ก็มีคนเอาโน้ตไปยื่นให้ท่าน เมื่อรับไปอ่านแล้วท่านนายกรัฐมนตรีก็หายวับออกจากงานไป บางคนก็บอกว่าท่านยังนั่งรถ 3 ล้ออยู่บนฟลอร์ และหายไปเมื่อมีคนไปกระซิบ


ดังนั้นกว่าคณะทหารที่ไปบ้านจะหันหัวกลับมาสวนอัมพรหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ก็ไม่อยู่ให้เห็นตัวแล้ว ทั้ง ๆ ที่จากบ้านหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์มาที่สถานลีลาศสวนอัมพรตอนค่ำนั้น รถยนต์น่าจะวิ่งมาถึงได้ในเวลาเพียง 5 นาทีเท่านั้นเอง     สุชิน ตันติกุล ได้ยกเอารายงานข่าวในหนังสือพิมพ์พิมพ์ไทย ฉบับวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 ในส่วนที่เกี่ยวกับหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ มาให้อ่านดังจะขอยกมาในที่นี้ด้วยว่า “ขณะเดียวกันเมื่อเวลาประมาณ 23 น. เศษ ขณะที่นายกรัฐมนตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ กำลังวาดลวดลายอยู่กับคู่เต้นบนฟลอร์สวนอัมพร ในงานของสมาคมนักเรียนเก่าสายปัญญา ปรากฏว่าได้มีบุคคลผู้หนึ่งแต่งกายเรียบร้อยเดินทางเข้าไปหานายกฯ แล้วยื่นกระดาษแผ่นหนึ่งให้ เมื่ออ่านจบนายกรัฐมนตรีก็มีสีหน้าเผือดไปเล็กน้อย และมีกิริยาอาการลุกลี้ลุกลนลุกขึ้นขอตัวคู่สนทนาแล้วออกจากเวทีหายไปจนกระทั่งบัดนี้ก็ยังไม่มีใครพบตัว”


สายที่ 3 ที่มุ่งไปจับกุมตัวคนสำคัญหมายเลข 3 คือ “อธิบดีกรมตำรวจ” พลเรือตรี สังวรณ์ สุวรรณชีพ ตัวสุชิน ตันติกุล อ้าง ว.ช. ประสังคิต ยกมาว่า “สายที่ 3 มีพันเอกหลวงสถิตยุทธการ เป็นหัวหน้า นำกำลังทหารจากหน่วย ป.ต.อ. และจาก ร.1 พัน 1 ไปจับกุมพลเรือตรีสังวรณ์ สุวรรณชีพ ที่บ้านตำบลบางกะปิ” แต่การจับกุมตัวหลวงสังวรณ์ สุวรรณชีพ ก็ล้มเหลว จับไม่ได้อีกเช่นกัน


ที่น่าสังเกตก็คือ ไม่มีทหารกลุ่มใดคิดไปจับกุมผู้บัญชาการทหารบก พลเอก อดุล อดุลเดชจรัส เลย ทั้ง ๆ ที่เป็นที่รู้กันว่าหลวงอดุลฯ เป็นคนดุ เป็นคนที่ทหารกลัว และเป็นคนที่รัฐบาลเชื่อว่าจะคุมไม่ให้ทหารบกลุกขึ้นมายึดอำนาจล้มรัฐบาลได้ นับว่าเป็นความเข้าใจผิดของฝ่ายรัฐบาล ซึ่งกว่าจะรู้ตัวก็สายเสียแล้ว เพราะเมื่อทหารระดับกลางเห็นด้วยในการที่จะล้มรัฐบาล พลเอก อดุล อดุลเดชจรัส ผู้บัญชาทหารบกก็ห้ามไม่อยู่
วันนั้นวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 เรื่องของวันที่ 8 พฤศจิกายนยังไม่จบ


แต่ถ้าได้ฟังหรืออ่านแถลงการณ์ฉบับที่ 3 ของคณะผู้ยึดอำนาจการปกครองที่เรียกตัวเองว่า “คณะรัฐประหาร” ก็อาจเข้าใจได้ดีขึ้น ดังที่สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ ยกเอามาให้เห็นในหนังสือชื่อ แผนชิงชาติไทย ซึ่งเป็นหนังสือที่ให้รายละเอียดเรื่องรัฐประหารเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 และเรื่องราวที่ตามมาได้ลึกมาก ผู้ที่สนใจการเมืองไทยไม่ควรพลาดหนังสือเล่มนี้ ความในแถลงการณ์มีว่า “...ก่อนที่คณะเราจะลงมือกระทำการนั้นก็ได้ไปเชื้อเชิญอ้อนวอน พล.อ.อดุล อดุลเดชจรัสแล้ว เพื่อขอให้มาเป็นประมุขในการกระทำคราวนี้ โดยคณะของเราเห็นว่าท่านเป็นผู้หวังดีต่อชาติโดยแท้จริง เหมือนดังที่ประชาชนทั่วไปเข้าใจกัน อนึ่ง ท่านผู้นี้เองได้ตระหนักถึงความเหลวแหลกของรัฐบาลดีอยู่แล้ว ถึงกับปรารภอยู่เนือง ๆ ว่า ยินดีที่จะช่วยเหลือ แต่ครั้นถึงการกระทำเข้าจริง ๆ ท่านผู้นี้ซึ่งใคร ๆ พากันหวังว่าเป็นคนรักชาติที่แท้จริงคนหนึ่ง กลับกลายเป็นบุคคลสำคัญที่พยายามขัดขวางการกระทำของทหารผู้หวังดีต่อประเทศชาติ...”


ตอนแรกที่มีข่าวว่ามีการยึดอำนาจนั้น พล.อ.อดุล อดุลเดชจรัส ผู้บัญชาการทหารบกก็ยังคิดจะต้านทาน เขาเล่ากันว่าท่านได้ไปอยู่ที่กองพัน 1 กรมทหารราบที่ 11 ที่บางซื่อ เพียงแต่ว่าต่อมาได้มีการเจรจากันและตกลงกันได้กับทางฝ่ายคณะผู้ยึดอำนาจ ได้ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 5 มีใจความตอนหนึ่งว่า “...พล.อ.อดุล อดุลเดชจรัส ได้กระทำการขัดขวางโดยการถอนกำลังบางส่วนไปเพื่อเตรียมการต่อต้านนั้น บัดนี้ได้ทำการตกลงกันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว...”


หลังจากที่ พล.อ.อดุล ตกลงกับคณะผู้ยึดอำนาจได้แล้ว ท่านก็ยังไปที่ทำเนียบท่าช้าง เมื่อตอนตี 4 ของวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 ได้พบกับท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ โดยมีคำอธิบายก่อนที่จะกลับไป ดังที่ท่านผู้หญิงเล่าเอาไว้“ผมจัดการเรียบร้อยแล้ว ให้พวกเขาอยู่ตรงป้อมพระสุเมรโน่น ไม่ให้ล้ำเข้ามาอีก”


คืนวันเดียวกันนี้ ซึ่งน่าจะเป็นคืนวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 ยังมีบุคคลสำคัญอื่นที่ทหารของคณะผู้ยึดอำนาจหาตัวไม่พบก็คือ พระยามานวราชเสวี ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ผู้ซึ่งมีบ้านพักอยู่ที่ถนนสาธร เป็นบ้านหลังใหญ่ตั้งอยู่บนถนนสาธรใต้ เหตุที่คณะทหารตามหาตัวท่าน ก็เพราะต้องการให้ท่านลงนามในรัฐธรรมนูญฉบับของคณะรัฐประหาร หรือ “ฉบับใต้ตุ่ม” ของหลวงกาจสงครามนั่นเอง ทั้งนี้คณะทหารได้อาศัยนาวาเอก หลวงกาจสงคราม ซึ่งรับว่าเป็นผู้ร่างรัฐธรรมนูญนี้ให้เอาร่างรัฐธรรมนูญที่ตนเป็นผู้ทำและซ่อนไว้ไต้ตุ่มออกมาและรีบชิงเอาไปให้ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ลงนาม เรื่องราวตรงนี้ สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ เขียนว่า
“อนึ่ง ม.จ.จักรพันธ์เพ็ญศิริ จักรพันธุ์ บุตรเขยของ น.อ.กาจ เก่งระดมยิง ก็มีส่วนทำให้ความสำเร็จในการรัฐประหารสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ต้องการเป็นตัวกลางนำ น.อ.กาจ และ พล.ท.ถนอม กิตติขจร (ตอนนั้นยังไม่เป็นนายพล) ไปพบกับกรมขุนชัยนาทนเรนทร ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ที่วังถนนวิทยุในเวลา 01.00 น. ของวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 เพื่อขอให้ลงนามรัฐธรรมนูญชั่วคราว...”


คืนวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 จึงเป็นคืนของการปฏิบัติการรุกและรับที่ยังลึกลับ ที่ถึงวันนี้ยังมีเรื่องให้พิสูจน์ความจริงกันได้อีกมาก ดังนั้นรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2490 ที่ประกาศใช้ทันทีทันควันในวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 จึงมีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ลงพระนามเพียงผู้เดียว ดังที่ สุชิน ตันติกุล เขียนว่า “หลังจาก กรมขุนชัยนาทนเรนทรได้ลงพระนามแล้ว คณะของนาวาอากาศเอกกาจ กาจสงคราม ได้ไปหาพระยามานวราชเสวี ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์อีกคนหนึ่ง ที่บ้านถนนสาธร แต่ไม่พบฉะนั้นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2490 จึงขาดผู้สำเร็จราชการอีกหนึ่งคนลงนามจึงจะครบสมบูรณ์” ตรงนี้จึงเป็นความได้เปรียบเทียบของคณะรัฐประหารไปอย่างคาดไม่ถึงเลยทีเดียว


เช้าวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 คณะทหารก็เสมือนว่าได้ควบคุมสถานการณ์มาอยู่ข้างตน และได้รีบเร่งออกแถลงการณ์พิมพ์ออกแจกจ่ายให้ผู้คนได้รับรู้การล้มรัฐบาลด้วยความยินดี ดังมีความตอนหนึ่งใoแถลงการณ์ว่า “โดยเหตุที่ได้ตระหนักถึงความเหลวแหลกของวงการรัฐบาลและความทุกข์ยากของประชาชนเช่นนี้ จึงจำใจต้องกระทำการยึดอำนาจบังคับให้รัฐบาลลาออกและจัดคณะรัฐบาลขึ้นใหม่ต่อไปตามรัฐธรรมนูญเพื่อช่วยกันกวาดล้างความทุจริต และความเหลวแหลกนานาประการในวงการรัฐบาลเสีย และกำจัดความเดือดร้อนทุกข์เข็ญของประชาชนโดยรีบด่วน” ที่น่าสังเกตก็คือการยึดอำนาจครั้งนี้นำโดยนายพลนอกราชการอย่าง พลโทผิน ชุณหะวัณ และยึดอำนาจได้สำเร็จโดยปราศจากการต่อต้านใด ๆ ทั้งจากฝ่ายทหารและตำรวจของรัฐบาลจริงหรือ


ดังที่กล่าวมาแล้วว่าเป็นเพราะ ผบ.ทหารบก พลเอกอดุล อดุลเดชจรัส นั้นท่านไม่ได้ตัดสินใจเด็ดขาด เมื่อท่านรู้ว่าลูกน้องทหารบกของท่านนำกำลังออกมา ท่านก็ไม่ได้ต้านทานอะไรมาก หากเพียงแต่ไล่กลับเข้ากรมกอง อันกลุ่มทหารที่ท่านไล่กลับคือกลุ่มที่นำโดย พ.ท.ละม้าย อุทยานานนท์ ที่มุ่งจะไปจับ นายปรีดี พนมยงค์

การที่ ผบ.ทหารบกได้ขวางรถของ พ.ท.ละม้าย อุทยานานนท์ จนเขาต้องลงจากรถมาเผชิญหน้ากับท่านนั้น ได้มีผู้เขียนเล่าเอาไว้น่าสนใจ ผู้เขียนเล่าก็คือ พ.ต.อ.พุฒ บูรณสมภพ ท่านเขียนเล่าไว้ใน “13 ปี กับบุรุษเหล็กแห่งเอเชีย” โดยอ้างว่า พล.อ.อดุล อดุลเดชจรัส ได้ถาม พ.ท.ละม้าย อุทยานานนท์ ว่าจะไปไหน เมื่อ พ.ท.ละม้าย อุทยานานนท์ ตอบว่าจะไปที่ทำเนียบท่าช้าง พล.อ.อดุล อดุลเดชจรัส จึงสั่งให้ทหารถอดลูกเลื่อนปืนของทหารออกทั้งหมด ดังที่ พ.ต.อ.พุฒ บูรณสมภพ เขียนว่า “แล้วลูกเลื่อนปืนทุกกระบอกของทหารบนรถก็เข้าไปนอนกองอยู่ในรถเก๋งสีดำของนายพลตาดุทั้งหมด”


พ.ต.อ.พุฒ บูรณสมภพ ได้สรุปเรื่องตอนนี้ว่า “คืนนั้น พ.ท.ละม้าย อุทยานานนท์ คุมทหารที่แบกปืนไม่มีลูกเลื่อนทั้งคันรถไปจับท่านปรีดี แต่การปฏิวัติก็สำเร็จ และเรื่องนี้เป็นเรื่องจริง” การที่กลุ่มทหารที่นำโดย พ.ท.ละม้าย อุทยานานนท์ ไปถึงทำเนียบท่าช้างแล้วไม่พบ นายปรีดี พนมยงค์ ก็อาจเป็นเพราะไปถึงช้าจึงคาดกันกับนายปรีดี พนมยงค์ ที่หลบลงเรือจ้างออกไปจากทำเนียบท่าช้างก่อนหน้าที่กลุ่มทหารจะไปถึงไม่กี่นาที

แต่การระดมยิงทำเนียบท่าช้างด้วยกระสุนจริงในวันที่ พ.ท.ละม้าย อุทยานานนท์ และทหารไปที่ทำเนียบท่าช้างก็เป็นเรื่องที่มีผู้อยู่ในเหตุการณ์บันทึกไว้ว่าจริงอีกเช่นกัน ส่วนทางด้านตำรวจนั้นน่าสนใจข้อเขียนของ พ.ต.อ.พุฒ บูรณสมภพ เพราะเป็นคำให้การของนายตำรวจหนุ่มซึ่งในวันเกิดเหตุเป็นร้อยตำรวจโท เขาเล่าเองว่าทางตำรวจสันติบาลได้มีการนัดหมายกันล่วงหน้าหากมีการยึดอำนาจเกิดขึ้นจะทำอย่างไร
“วันหนึ่งพี่เชื้อก็ประชุมพวกเราทั้งหมดและบอกแผนการให้ทราบทั่วกันว่า ถ้ามีเรื่องเกิดขึ้นก็ให้พวกเราทุกคน พร้อมด้วยอาวุธครบมือไปรวมกำลังพบกันที่บริเวณเมรุวัดเทพศิรินทร์เพื่อฟังคำสั่งต่อไป และให้ใช้สัญญาณอันเดียวกันกับที่เคยใช้เมื่อทำงานเสรีไทย...”


ในคืนวันเกิดเหตุ ร.ต.ท.พุฒ บูรณสมภพ ก็อยู่ที่เวทีลีลาศสวนอัมพรและเขาก็จำคำนัดหมายได้ จึงได้รีบเดินทางมาที่วัดเทพศิรินทร์ แต่ก็ไม่พบใคร ดังที่ ร.ต.ท.พุฒ บูรณสมภพ ในวันนั้นเล่าเรื่องต่อว่า “ผมหันไปมองทางเมรุซึ่งอยู่ใกล้ ๆ แล้ว ชักจะไม่ดี ผมก็เลยขับรถออกมาจากที่นั่น เฉี่ยวไปที่กองตรวจก่อน เพราะอยู่ใกล้...เงียบ...? ไม่มีการเคลื่อนไหวอะไร ผมบึ่งไปที่สันติภาพก็เงียบอีก ไม่รู้จะไปไหนอีกแล้ว ผมก็กลับบ้าน” โดยคุณพุฒ บูรณสมภพ บอกว่ามาทราบภายหลังว่าเขาเปลี่ยนที่นัดหมายกันใหม่ไปที่บ้านหลวงสังวรณ์ สุวรรณชีพ ซึ่งจะมีตำรวจไปพบกันมากน้อยเท่าใดไม่ทราบ แต่หลวงสังวรณ์ฯ เองก็หายตัวจากบ้านไป
การยึดอำนาจจึงสำเร็จลงได้โดยง่าย เพราะไม่มีการต่อสู้จากทางฝ่ายรัฐบาลเลย เพราะผู้นำสำคัญต่างถอยหลบลี้หนีหายกันหมด


วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 พลโทผิน ชุณหะวัณ หัวหน้าคณะรัฐประหารจึงคุยได้ว่าการยึดอำนาจของเขามีทหารทุกเหล่าทัพร่วมด้วย เพียงไม่ได้ชวนตำรวจกับสารวัตรทหารเข้าร่วม การรัฐประหารจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทหารเข้ามามีบทบาทนำทางการเมืองอย่างมาก และเป็นการหมดอำนาจของคณะราษฎร กับทำให้ “กลุ่มราชครู” เข้ามาเริ่มต้นนำการเมืองไทยด้วย
****************************************************************************
บริการจัดทัวร์ 
เชียงตุง เมืองยอง สิบสองปันนา คุนหมิงจีน หลวงพระบาง วังเวียงลาว มัณฑเลย์ พุกาม ทะเลสาบอินเล ตองจีรัฐฉาน

บริษัท เชียงตุงเรียลเอสเตท แอนด์ ทราเวล จำกัด
เลขที่ใบอนุญาต 21/00833
โทร : 092-891-2277,093-2537733,053-727255
ไลน์ไอดี : @chiangtung
เว๊ปไซค์ : Chiangtungbiz.com
youtube:http://bit.ly/2HDFdMO
 

บทความที่คุณอาจสนใจ

ตายแล้วไปไหน? 20 ภพภูมิที่ วิญญาณ ทุกตนต้องไป ตามความเชื่อของตน

ตำนานเชียงตุงยุคที่3ศึกพญามังราย

สละเวลาอ่านเพียงนิดแล้วจะเข้าใจชีวิตมากขึ้น

บริษัท ไชยนารายณ์ โกลเบิ้ล จำกัด

66 หมู่1 ถนนโชคชัย4 แขวงลาดพร้าว เขตลาดพร้าว กรุงเทพ 10320

Tel ซื้อสินค้า : 063 5599 896

Tel ซื้อสินค้า : 092 891 2277

Tel ท่องเที่ยว :

Line ซื้อสินค้า : @chainarai

Line ท่องเที่ยว : @chainarai

Email : chainarai456@gmail.com

แผนที่

เพจ สิบสองปันนา หลวงพระบาง

เพจ เชียงตุง อยู่ดีกินหวาน